ผลการดำเนินงานตามโครงการสุขภาพ
เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือของพระบรมวงศานุวงศ์
เรื่อง โครงการพัฒนาเสริมศักยภาพเด็กนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องการเรียนรู้(LD)
ในโรงเรียนชุมชนบ้านด่านซ้าย
.................................................................................................................................................................
จากข้อมูลสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลยที่ 3 ด่านซ้าย พบว่า ประชากรเด็ก 0-15 ปี มีร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดของอำเภอด่านซ้าย และข้อมูลความพิการในเด็กอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มี 315 รายจากเด็กกลุ่มนี้ทั้งหมด 4,979 คิดเป็นร้อยละ 6.32 แยกประเภทความพิการได้ดังนี้ บกพร่องทางการเรียนรู้ 262 คน ร้อยละ 72 บกพร่องทางสติปัญญา 35 คน ร้อยละ10 บกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ 26 คน ร้อยละ 7 บกพร่องทางร่างกาย 11คน ร้อยละ 3 บกพร่องทางการพูด 6 คน ร้อยละ 2

ข้อมูลของโรงเรียนชุมชนบ้านด่านซ้าย มีนักเรียนทั้งหมด 642 คน ครูคัดกรองเป็นเด็กที่มีความพิการ 61 คน แยกเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ร้อยละ 75 บกพร่องทางสติปัญญา ร้อยละ 6 บกพร่องทางการมองเห็นร้อยละ 5 และ พฤติกรรมและอารมณ์ ร้อยละ 5
จากข้อมูลดังกล่าวทีมสุขภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จึงได้นำมากำหนดยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลด่านซ้าย เพื่อให้ เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีในกลุ่มเป้าหมาย ตัวชี้วัดหลักที่สำคัญคืออัตราเด็กอายุ 0 -12 ปี มีพัฒนาการที่สมวัย
โดยที่ผ่านมาจากการประเมิน คัดกรองเด็กที่มีปัญหากลุ่มพัฒนาการผิดปกติ(Learning Disability , Autistic , ADHD) ที่อยู่ในโรงเรียนเขตอำเภอด่านซ้ายพบว่าส่วนใหญ่ขาดการกระตุ้น/แก้ไขพัฒนาการที่หลากหลาย ทำให้เกิดภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ไม่สามารถเรียนรู้ได้ตามเกณฑ์ระดับชั้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษา การพัฒนาตนเองในสังคมของเด็ก

ฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟู ซึ่งมีบทบาทในการจัดกระตุ้นพัฒนาการเด็กจึงจัดทำโครงการนี้โดยประสานความร่วมมือกับโรงเรียนชุมชนบ้านด่านซ้าย เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดห้องเรียนพิเศษกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ด้วยวิธีทางกิจกรรมบำบัด และดนตรีบำบัดขึ้น โดยพบว่ามีเด็กที่ได้รับการประเมินคัดกรองโดยครูประจำชั้น ครูพิเศษ นักกิจกรรมบำบัด ร่วมกับผู้ปกครอง มีกลุ่มเป้าหมายที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จำนวน 58 ราย ในปีการศึกษา 2553

จากการดำเนินการ ระยะที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ตุลาคม 2553 - กุมภาพันธ์ 2554 ครูได้ใช้ประสบการณ์และคัดกรองความบกพร่องโดยแบบประเมิน KUSSI ส่งรายชื่อที่คัดกรองทั้งหมดให้โรงพยาบาล มีนักกิจกรรมบำบัด เข้าประเมินความบกพร่องของเด็กโดยใช้ แบบเรียนปกติตามชั้นเรียนของเด็ก และบทเรียนที่เคยเรียนผ่านมาแล้ว และบันทึกสิ่งที่พบเพื่อแยกความบกพร่องด้านต่างๆที่พบครั้งแรกในการประเมิน และดำเนินโครงการ โดยทำกิจกรรมบำบัดในห้องเรียน แต่ยังไม่มีการกำหนดแบบแผนชัดเจน จะประเมินการใช้กิจกรรมโดยนักกิจกรรมบำบัด โดยแต่ละครั้งไม่ซ้ำกัน เน้นการจัดกิจกรรมปรับให้เหมาะสมกับการประเมินเด็กหลังการให้กิจกรรมครั้งก่อนหน้านั้น อีกรูปแบบหนึ่งคือการใช้ดนตรีบำบัดในห้องเรียนใช้แบบเรียนงานวิจัยเล่ม 1to5 piano เพื่อความสุขสำหรับเด็กพิเศษ(ลิขสิทธิ์)
ประเมินความก้าวหน้าของการจัดกิจกรรมบำบัด ประเมินทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมในรายนั้นๆ และบันทึกในแบบบันทึกความก้าวหน้าอย่างสรุป โดยไม่ได้ใช้แบบคัดกรอง แต่ใช้การประเมินจากนักกิจกรรมบำบัดผู้จัดกิจกรรม ส่วนดนตรีบำบัด ประเมินจากการใช้ดนตรีตั้งแต่ครั้งแรกของการจัดกิจกรรม โดยแยกกลุ่มเด็กตามประเภท A B C มีการประเมินความก้าวหน้าทุกครั้งที่เด็กได้รับกิจกรรมตามตารางกำหนดการห้องเรียนพิเศษ บันทึกผลเกรดแต่ละครั้งไว้ในตารางเพื่อประมวลผลเกรดสุดท้าย วัดความก้าวหน้าในการใช้ดนตรี เมื่อมีการประเมินโครงการช่วง1 ภาคการศึกษาแล้ววางแผนการเพิ่มศักยภาพครูโดย การใช้ดนตรีบำบัด จัดแผนการสอนช่วงภาคเรียนที่1 ด้วยแบบเรียน beginner level 1-2-3 ซึ่งจะมีแบบเรียนแบ่งกลุ่มความสามารถตามที่ครูสังเกตการณ์เล่นดนตรีของเด็กได้ 3 กลุ่ม A B C หากพบว่ามีลักษณะการใช้อยู่ในกลุ่มใด จะให้เริ่มเรียนในบทเรียนตามกลุ่ม หลังจากจบภาคเรียนที่ 1 จะมีการติดตามประเมินการใช้ของครู และผลความก้าวหน้าของเด็กที่ครูสังเกตได้ ส่วนการใช้กิจกรรมบำบัดในห้องเรียน ออกแบบแผนการสอนและจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อสะดวกในการใช้ให้เป็นแบบเดียวกัน

หลังจากที่ดำเนินการ ได้รับความร่วมมือจากคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ในการร่วมประเมิน และถอดบทเรียนในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ มีการจัดสัมภาษณ์ focus group ผู้ปกครอง และครูของกลุ่มเด็กที่ได้รับกิจกรรม สะท้อนประสบการณ์ในการสังเกตและดูแลเด็ก LD เพื่อนำมาใช้กำหนดแบบประเมินพฤติกรรมอย่างง่าย สะดวกในการคัดกรอง มีการปรับวิธีการเพื่อให้แก้ไขปัญหา และเสนอแนะวิธีการปรับปรุงโครงการเพื่อนำไปใช้จริงมากขึ้น เช่น การทำวิเคราะห์แบบคัดกรองภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงให้ครูสังเกตพฤติกรรมความผิดปกติของเด็กได้สะดวกขึ้น ก่อนที่จะมีการคัดกรองแยก เพื่อส่งพบกุมารแพทย์เพื่อการวินิจฉัยภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ในเด็กร่วมกับโรงเรียน
วิเคราะห์กิจกรรมที่ใช้ในการพัฒนาศักยภาพเด็ก LD เพื่อจัดกิจกรรมที่หลากหลายที่สามารถใช้ได้ในโรงเรียน เช่น กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้พยางค์ ตัวสะกด โดยออกเสียงคำ จากภาพที่เห็น แล้วให้เขียนโดยไม่เห็นคำ เพื่อให้เหมาะสมในการเรียนรู้สำหรับเด็กกลุ่มนี้

จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลเด็กกลุ่ม LDในโรงเรียน โดยประสบการณ์จากกุมารแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และอาจารย์แพทย์หญิงบุษกร อนุชาติวรกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะครูโรงเรียนชุมชนบ้านด่านซ้ายและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เพื่อสร้างความเข้าใจในการดูแลเด็กพิเศษ และวางแผนกำหนดแนวทางการดูแลการเรียนการสอนในโรงเรียนต้นแบบ
ปรับรูปแบบการใช้กิจกรรมดนตรีบำบัด โดยขยายให้กว้างขวางทั้งโรงเรียน มุ่งเน้นให้กลุ่มเด็ก LD แสดงศักยภาพด้านต่างๆ ด้วยตนเอง โดยครูประจำชั้นได้รับการแนะนำในการใช้ดนตรีบำบัดในห้องเรียน และประเมินติดตามพัฒนาการเด็กเป็นระยะ ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสใช้ดนตรีได้ในทุกๆเวลาที่ต้องการมากขึ้น มีการวิเคราะห์ผลการใช้แบบสังเกตพฤติกรรมเด็กโดยครู ก่อนการประเมิน IQ จากพยาบาลจิตเวชเด็ก และประเมินร่วมกับกุมารแพทย์ เพื่อนำผลการประเมินส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงเรียนและทีมอนามัยแม่และเด็กโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ผู้ปกครอง ในการจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างเหมาะสม