CQI เรื่อง รองเท้าแก้ว กรมธรรม์ก้าวแรก เกือกแก้วพิสดาร

ชื่อหน่วยงาน ฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟู งานขาเทียม
................................................................................................................................................................
สาเหตุของปัญหา
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ทำคลอดเฉลี่ยกว่า 900 รายต่อปี ซึ่งอาจพบปัญหาในเด็กแรกคลอด เช่น น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดพัฒนาการช้า ภาวะความพิการผิดรูปตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉลี่ยจะพบเด็กที่มีปัญหาในด้านเท้าผิดรูปเฉลี่ย 5 รายต่อปี ฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟู เป็นหน่วยงานที่รับปรึกษาการแก้ไขภาวะความผิดปกติผิดรูปที่เท้า หรืออวัยวะอื่นๆภายหลังจากการคลอด พบว่าผู้รับบริการเด็กแรกเกิดที่ส่งมารับการแก้ไขความผิดปกติส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติที่เท้าเช่น เท้าปุก รูปเท้าบิด นิ้วเท้าเก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ขัดขวางพัฒนาการปกติของเด็ก เช่นการเริ่มคลาน การลุกหัดตั้งไข่ การเดินเป็นต้น อีกทั้งเด็กทารกแรกเกิดเป็นความหวังของพ่อแม่ ซึ่งหากเกิดความพิการถาวรก็จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ปกครองด้วยและในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่เกิดภาวะหลอดเลือดสมอง ที่มีภาวะอัมพาตครึ่งซีกปลายเท้าตก ขัดขวางการเดินปกติ และหากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานอาจเกิดการพิการผิดรูปถาวรซึ่งทำให้ไม่สามารถกลับมาเดินได้ตามปกติได้

จากการให้บริการพบว่า ก่อนที่จะมีสูติแพทย์ การคัดกรองพบเด็กที่มีปัญหารูปเท้าผิดปกติได้รับการฟื้นฟูสภาพช้า หรือยังไม่สามารถให้บริการกายอุปกรณ์ที่ใช้แก้ไขได้เหมาะสม ต้องดัดแปลงวัสดุเพื่อทำเป็นรองเท้าแก้ไขความพิการซึ่งมีข้อจำกัดเช่น วัสดุไม่คงทน ผู้ดูแลไม่สะดวกในการเปลี่ยน ใส่ ต้องนัดมาประเมินการใส่อุปกรณ์หลายครั้ง ซึ่งอาจแก้ไขไม่ทัน ทำให้เกิดภาวะพิการผิดรูป ส่วนผู้ป่วยระยะฟื้นฟูสภาพการใช้ posterior slap เพื่อป้องกันการเกิดเท้าตกเป็นสิ่งจำเป็น แต่วัสดุสำเร็จมีราคาแพง ประมาณ 1,500 บาท และอาจไม่พอดีกับขนาดขาของผู้ป่วยแต่ละราย

เมื่อมีสูติแพทย์ และกุมารแพทย์ การคัดกรองภาวะผิดปกติผิดรูปของรยางค์พบมากขึ้น และส่งแก้ไขตั้งแต่แรกคลอด ทำให้มีการพัฒนาการผลิตวัสดุสำหรับการแก้ไขความผิดปกติ รองเท้าแก้ว ขึ้น 

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อพัฒนาวัสดุในการทำรองเท้าหรือวัสดุแก้ไขความพิการผิดรูปที่เท้า
  2. เพื่อจัดทำวัสดุแก้ไขให้รวดเร็วก่อนจำหน่ายผู้ป่วย
  3. เพื่อป้องกันแก้ไขความพิการที่เท้า ป้องกันภาวะพิการถาวร
  4. เพื่อลดต้นทุนการผลิต
  5. เพื่อพัฒนาเพิ่มพูนทักษะเจ้าหน้าที่ขาเทียม
  6. เพื่อลดความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง
สาเหตุของปัญหาหลักที่นำมาใช้เพื่อคิดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพ
  1. ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ให้บริการ หรือจัดทำกายอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐาน
  2. หากต้องจัดทำผู้รับบริการต้องเดินทางไปรับบริการที่ รพ.จังหวัด ระยะทางไกลกว่า 80 กิโล
  3. เกิดภาวะข้อติด กล้ามเนื้อหดรั้งในรายที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์
  4. ดูแลจิตใจของผู้ปกครองเมื่อลูกเกิดภาวะความผิดปกติ
  5. จำกัดพัฒนาการ หากเท้าผิดรูปพัฒนาการด้านอื่นๆอาจช้าไปด้วย
  6. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย จัดการได้ช้า
  7. ลดขั้นตอนในการรับริการ 
 วิธีการพัฒนาแก้ไขปัญหา
  1. ก่อนการพัฒนา ใช้ กล่องกระดาษ แล้วใช้เทปพัน ข้อดี ทำได้ทันที ข้อเสียไม่เหมาะสมกับรูปเท้า วัสดุไม่คงรูป
  2. ต่อมาใช้แผ่นเสริมรองเท้า ข้อดี วัสดุคงรูปเข้ากับรูปเท้าได้ดี ข้อเสีย ความยืดหยุ่นสูง มักจำกัดการเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่
  3. ปัจจุบัน ใช้พีไลท์ ขึ้นรูปอบแข็งเข้ากับรูปเท้า แล้วรองด้วยพลาสติกแข็งอีก1ชั้น
เปรียบเทียบต้นทุนในการผลิต AFOสำเร็จรูป
  • สั่งจากตัวแทนบริษัท ข้างละ 1,500 บาท
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายทำ 
  • ค่าเฝือก 56 บาท
  • ค่าพลาสติก 200 บาท/ขา
  • ค่าพีไลท์ 50 บาท/ขา
  • วัสดุสิ้นเปลือง เช่น กาว กระดาษกาว 50 บาท รวม ต้นทุนในการผลิต 356 บาท/ข้าง
สถิติที่ได้ทำ
  1. รองเท้าแก้ว 3 คู่
  2. เฝือกพลาสติกกันเท้าตก(AFO) 5 ข้าง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
  1. ป้องกัน/แก้ไขการผิดรูปเท้า
  2. ลดความกังวลของผู้ปกครอง
  3. ส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
  4. ลดต้นทุนในการผลิต สามารถเพิ่มรายได้ให้กับโรงพยาบาล 
สามารถส่งเบิก สปสช. หมวดค่าบริการฟื้นฟูสภาพทางการแพทย์ ได้ข้างละ 2,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบการใช้ระยะเวลาในการให้บริการ  รองเท้าแก้ว โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ใช้เวลาในการจัดการแก้ไขปัญหาไม่เกิน 2 วัน ตั้งแต่ผู้ป่วยเด็กหลังคลอดพบปัญหาเท้าผิดรูป เจ้าหน้าที่จะรับปรึกษาจากหอผู้ป่วยในหลังคลอด(1วันก่อนรับบริการหรือภายในวันที่รับปรึกษา) กายภาพบำบัดประเมินร่วมกับกายอุปกรณ์(1วันในการจัดทำ) ผู้ดูแลสามารถรับรองเท้าก่อนกลับบ้าน หลังจากนั้นมีการนัดประเมินซ้ำหลังการใส่(1เดือน) และแก้ไขให้เมาะสมกับสภาพเท้าทุกครั้งที่มีการนัด หรือใช้ระบบการติดตามเยี่ยมที่บ้านเพื่อประเมินการใช้และการแก้ไขรูปเท้าโดยนักกายภาพบำบัด เมื่อเทียบกับกายอุปกรณ์หน่วยบริการอื่นๆ จะใช้เวลาในการเข้ารับบริการมากกว่า เช่นทำบัตร(1ชั่วโมง) รอพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย(3ชั่วโมง) ส่งพบนักกายภาพบำบัด(1ชั่วโมง) กายอุปกรณ์(1วัน)รอนัดคิวทำรองเท้า(ไม่ทราบจำนวนวัน) ทำรองเท้า1วัน นัดประเมินซ้ำ 1 เดือน
ภาพที่ 1 เด็กที่มีเท้าผิดรูป

ภาพที่ 2 การหล่อรูปเท้า

ภาพที่ 3 ขึ้นรูปเฝือกปูน

ภาพที่ 4 เฝือกปูนที่เสร็จแล้ว

ภาพที่ 5 พีไลท์ที่ทำเสร็จ

ภาพที่ 6 เฝือกกันเท้าตก

ภาพที่ 7 ใส่ร้องเท้าแก้ว